2014-03-11 | 3485 View
Google ลุยสร้างสมาร์ทโฟนที่ผู้ใช้ต่อเองได้ Project Ara หวังขาย 50 ดอลล์ปีหน้า
กูเกิล (Google) ให้สัมภาษณ์สื่ออเมริกันว่าบริษัทตั้งเป้าจำหน่ายสมาร์ทโฟนรุ่นใหม่ที่ผู้ใช้จะสามารถเติมต่อและประกอบได้เองภายในปีหน้าหรือ 2015 โดยยืนยันว่ากูเกิลจะมุ่งพัฒนาให้สมาร์ทโฟนนี้สามารถวางจำหน่ายในราคาเริ่มต้นเพียง 50 เหรียญสหรัฐเท่านั้น หรือประมาณ 1,650 บาท
สื่ออเมริกันที่กูเกิลเปิดเผยความเคลื่อนไหวเกี่ยวโครงการสมาร์ทโฟนพันธุ์ใหม่คือนิตยสารไทม์ (Time) โดยโครงการนี้เป็นที่รู้จักดีในนาม "โปรเจ็กต์ เอรา (Project Ara)" สมาร์ทโฟนที่ผู้ใช้สามารถเปลี่ยนชิ้นส่วนภายในและภายนอกได้เอง ซึ่งชิ้นส่วนนี้จะสามารถถอดประกอบได้ง่ายเหมือนตัวต่อเลโก้ (Lego) ของคุณหนู
โปรเจ็กต์ เอรา นั้นเป็นโครงการที่ถูกเปิดเผยสู่สาธารณชนตั้งแต่ปี 2012 ภายใต้การดูแลของแผนกกลุ่มงานโปรเจ็กต์และเทคโนโลยีก้าวหน้า Advanced Technology and Projects Group ของโมโตโรลา โดยกลุ่มงานนี้เป็นกลุ่มที่กูเกิลขอยกเว้น ไม่นำไปรวมกลุ่มกับธุรกิจสมาร์ทโฟนของโมโตโรลาที่กูเกิลจำหน่ายให้เลอโนโวด้วยมูลคค่า 3.3 พันล้านเหรียญสหรัฐ
การปิดกั้นผู้ใช้เป็นที่มาของจุดประสงค์สำคัญของโครงการนี้ เพราะโครงการโปรเจ็กต์ เอราต้องการมอบอำนาจให้ผู้ใช้ได้มีโอกาสเลือกว่าต้องการสมาร์ทโฟนเพื่อการทำงานใด แล้วจึงเลือกฮาร์ดแวร์ที่เหมาะสมที่สุด ทั้งหน่วยประมวลผลหลากระดับ และกล้องดิจิตอลความละเอียดหลายความคมชัด ซึ่งหากวันหนึ่งผู้ใช้ต้องการสมาร์ทโฟนเพื่อการถ่ายภาพดีกว่า ก็สามารถเลือกเปลี่ยนเฉพาะกล้องโดยไม่ต้องเปลี่ยนโทรศัพท์เครื่องใหม่ สามารถลดขยะอิเล็กทรอนิกส์ได้อย่างชัดเจน ขณะที่ผู้ใช้สามารถออกแบบรูปร่างและสีวัสดุประกอบเครื่องได้ตามชอบ
Google ลุยสร้างสมาร์ทโฟนที่ผู้ใช้ต่อเองได้ Project Ara หวังขาย 50 ดอลล์ปีหน้า
แม้จะยอมรับว่า ปัจจุบันมีพนักงานที่ดูแลโครงการนี้จำนวนไม่มาก แต่กูเกิลยังตั้งเป้าให้การพัฒนาเครื่องต้นแบบในโปรเจ็กต์ เอราสามารถสำเร็จผลภายในช่วง 2-3 สัปดาห์นับจากนี้ ซึ่งหากทำได้จริง กูเกิลจะสามารถจำหน่ายสินค้าในโครงการนี้ได้ภายในไตรมาสแรกของปี 2015
เบื้องต้น กูเกิลให้ข้อมูลว่าสมาร์ทโฟนจากโปรเจ็กต์ เอรา รุ่นแรกจะรองรับเครือข่ายอินเทอร์เน็ตไร้สายไว-ไฟ (Wi-Fi) เท่านั้น โดยอาจไม่สามารถเชื่อมต่อกับเครือข่าย 3G หรือ 4G ของโอเปอเรเตอร์ผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ ขณะที่รูปแบบการประกอบชิ้นส่วนนั้นจะอิงกับแกนหรือ backbone ที่ผู้ใช้สามารถเพิ่มหรือลดโมดูลสำหรับเชื่อมต่อได้เองตามต้องการ
แกนของสมาร์ทโฟนนี้จะเปิดให้เลือก 3 ขนาดคือใหญ่ กลาง และเล็ก ความน่าสนใจอยู่ที่นักพัฒนาสามารถสร้างและจำหน่ายโมดูลส่วนประกอบได้เองอย่างเสรี โมดูลเหล่านี้อาจเป็นแบตเตอรี่ กล้องดิจิตอล หน้าจอ หรือคีย์บอร์ด
พอล อีเรเมนโก (Paul Eremenko) หัวหน้าทีมงานแผนกกลุ่มงานโปรเจ็กต์และเทคโนโลยีก้าวหน้าให้สัมภาษณ์กับไทม์ว่าสิ่งที่จะเกิดขึ้นหากสินค้าในโครงการนี้สามารถเปิดตลาดได้ คือสัดส่วนในตลาดผู้ผลิตฮาร์ดแวร์สมาร์ทโฟนจะเปลี่ยนแปลงไป โดยปัจจุบัน นักพัฒนาแอปพลิเคชันนั้นมีจำนวนหลายหมื่นหลายแสนคนทั่วโลก แต่ผู้ผลิตที่สามารถยืดหยัดอยู่ในตลาดฮาร์ดแวร์นั้นมีเพียง 5 หรือ 6 บริษัทผู้ผลิตแบรนด์ใหญ่เท่านั้น ซึ่งสัดส่วนนี้จะเปลี่ยนไปแน่นอนเมื่อบริษัทอื่นหรือนักพัฒนาสามารถสร้างและจำหน่ายโมดูลได้เอง
ดังนั้น กูเกิลจึงต้องการต่อยอดการพัฒนาในโครงการนี้ด้วยการจัดงานประชุมนักพัฒนาต่อเนื่องตลอดปี 2014 คาดว่าจะเป็นงานที่จัดทั้งแบบออนไลน์ซึ่งคนทั่วโลกสามารถชมร่วมกันได้ และการจัดงานตามสถานที่ต่างๆในแต่ละประเทศ โดยงานแรกมีคิวเริ่มต้นจัดงานในวันที่ 15-16 เมษายนนี้